ใบความรู้ที่ ๑

ใบความรู้ที่ ๑
เรื่อง ความรู้เกี่ยวกับการเขียนเรียงความ

ความหมายของเรียงความ
          เรียงความ  เป็นงานเขียนชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนมีจุดประสงค์จะถ่ายทอดความรู้  ความคิด  ทรรศนะ  ความรู้สึก  ความเข้าใจออกมาเป็นเรื่องราว  ด้วยถ้อยคำสำนวนที่เรียบเรียงอย่างชัดเจนและท่วงทำนองการเขียนที่น่าอ่าน 
การเลือกเรื่องที่จะเขียนเรียงความ
          หากจะต้องเป็นผู้เลือกเรื่องเอง  ควรเลือกตามความชอบ  หรือความถนัดของตนเอง
การค้นคว้าหาข้อมูลอาจทำได้โดยการค้นคว้าจากหนังสือ นิตยสาร วารสาร อินเทอร์เน็ต หรือสื่ออื่น ๆ
ประเภทของเรื่องที่จะเขียนเรียงความ
          ๑. เรื่องที่เขียนเพื่อความรู้
          ๒. เรื่องที่เขียนเพื่อความเข้าใจ
          ๓. เรื่องที่เขียนเพื่อโน้มน้าวใจ
 องค์ประกอบของเรียงความ
          เรียงความมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน  คือ  คำนำ  เนื้อเรื่อง  และสรุป  งานเขียนทุกประเภทจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสามส่วนนี้  ดังจะได้กล่าวถึงรายละเอียดขององค์ประกอบพร้อมกับกลวิธีการเขียนต่อไปนี้
          ๑. คำนำ  เป็นส่วนหนึ่งของเรียงความส่วนแรกที่มีหน้าที่เปิดประเด็นเข้าสู้เรื่อง  เป็นการบอกให้ผู้อ่านทราบว่าผู้เขียนจะเขียนเรื่องอะไร  เพื่อชักนำให้คนสนใจอ่านเนื้อเรื่องต่อไป  คำนำเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของเรียงความเพราะเป็นส่วนช่วยดึงดูดให้ผู้อ่านหันมาสนใจเรื่องราวที่เขียน  ผู้อ่านจะอ่านเรื่องต่อไปหรือไม่  ก็อยู่ที่คำนำนั้นเอง 
          ๒. เนื้อเรื่อง หรือ เนื้อความ  เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการเขียนเรียงความ  เพราะเป็นส่วนที่เสนอความรู้ความคิดความเข้าใจทรรศนะหรือความรู้สึกของผู้เขียนให้แจ่มแจ้งโดยอาจจะยกอุทาหรณ์  สุภาษิต  และประสบการณ์ของผู้เขียนมาสนับสนุนเรื่องที่เขียนได้ 
          นักเรียนจะต้องคิดก่อนเป็นขั้นแรกว่า  จะเลือกเขียนเรื่องอะไร  มีวัตถุประสงค์และมีขอบเขตในการเขียนกว้างหรือแคบเพียงใด  เมื่อคิดวางแผนเป็นลำดับดังกล่าวแล้ว  ก็เริ่มเขียนโครงเรื่องเพื่อเป็นแนวทางในการเขียน
          ขั้นตอนต่อไปคือการเรียงเนื้อหาไปตามโครงเรื่องที่ได้กำหนดไว้  โครงเรื่องที่กำหนดไว้เป็นข้อ ๆ นั้นก็คือเนื้อหาในย่อหน้าหนึ่ง ๆ นั้นเอง  เมื่อจะขยายความแต่ละหัวข้อก็ย่อมจะได้ย่อหน้าที่มีเนื้อหาเป็นเอกภาพและมีน้ำหนัก  และถ้าเขียนแต่ละย่อหน้ามีประโยคใจความสำคัญ  และมีประโยคขยายความที่สนับสนุนประโยคใจความสำคัญอย่างชัดเจนแล้ว  เรียงความเรื่องนั้นก็จะเป็นเรียงความที่มีเนื้อหาสมบูรณ์เรียงความแต่ละเรื่องจะมีย่อหน้าเรื่องเท่าใดก็ได้  แต่เป็นไปไม่ได้ที่เรียงความเรื่องหนึ่งจะมีย่อหน้าเนื้อเรื่องเพียงย่อหน้าเดียว
          ในการเขียนเรียงความนั้น  การใช้ถ้อยคำภาษาเป็นสิ่งสำคัญมาก  นักเรียนจะต้องพิถีพิถันในการใช้ภาษา  ภาษาที่ใช้ต้องเป็นภาษาแบบเป็นทางการ  กล่าวคือภาษาจะถูกต้องตามหลักการเขียน  มีการเลือกสรรถ้อยคำมาเรียบเรียงให้กะทัดรัด  ชัดเจนอ่านเข้าใจง่าย  ราบรื่น  สละสลวย  และมีลีลาการเขียนที่น่าสนใจ 
          ๓. สรุป  เป็นส่วนสุดท้ายของเรียงความที่ผู้เขียนจะเน้นความรู้  ความคิดหลักหรือประเด็นสำคัญของเรื่องที่เขียนอีกครั้งหนึ่ง  การสรุปนับว่ามีส่วนสำคัญเท่ากับคำนำ  เพราะเป็นส่วนช่วยเสริมให้เรียงความมีคุณค่าขึ้น  
การวางโครงเรื่องก่อนเขียน
          เมื่อได้หัวข้อเรื่องแล้ว  ต้องวางโครงเรื่องโดยคำนึงถึงการจัดการจัดลำดับหัวข้อเรื่องที่จะเขียนให้สัมพันธ์        ต่อเนื่องกัน  เช่น
          - จัดลำดับหัวข้อตามเวลาที่เกิด
          - จัดลำดับหัวข้อจากหน่วยเล็กไปสู่หน่วยใหญ่
          - จัดลำดับตามความนิยม
          โครงเรื่องของงานเขียนควรจัดหมวดหมู่ของแนวคิดสำคัญเพื่อเป็นแนวทางในการเขียน  โครงเรื่องเปรียบเสมือนแปลนบ้าน  ผู้สร้างบ้านจะต้องใช้แปลนบ้านเป็นแนวทางในการสร้างบ้าน  การเขียนโครงเรื่องจึงมีความสำคัญทำให้     ผู้เขียนเรียงความเขียนได้ตรงตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้  ถ้าไม่เขียนโครงเรื่องหรือไม่วางโครงเรื่องเรียงความอาจจะออกมาไม่ตรงตามที่ผู้เขียนต้องการ
การเขียนย่อหน้า
          การย่อหน้าเป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่ง  เพราะจะช่วยให้ผู้อ่านอ่านเข้าใจง่ายและอ่านได้เร็ว  มีช่องว่างให้ได้พักสายตา  ผู้เขียนเรียงความได้ดีต้องรู้หลักในการเขียนย่อหน้า  และนำย่อหน้าแต่ละย่อหน้ามาเชื่อมโยงให้สัมพันธ์กัน  ในย่อหน้าหนึ่ง ๆ ต้องมีสาระเพียงประการเดียว  ถ้าจะขึ้นสาระสำคัญใหม่ให้เขียนในย่อหน้าต่อไป  ดังนั้นการย่อหน้าจะมากหรือน้อย  ขึ้นอยู่กับสาระสำคัญที่ต้องการเขียนถึงในเนื้อเรื่อง  แต่อย่างน้อยเรียงความต้องมี ๓ ย่อหน้า  คือย่อหน้าที่เป็นคำนำ  เนื้อเรื่อง  และสรุป
 การเชื่อมโยงย่อหน้า
          การเชื่อมโยงย่อหน้าทำให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างย่อหน้าเรียงความเรื่องหนึ่งย่อมประกอบด้วยย่อหน้าหลายย่อหน้าการเรียงลำดับย่อหน้าตามความเหมาะสมจะทำให้ข้อความเกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน  วิธีการเชื่อมโยงย่อหน้าแต่ละย่อหน้าก็เช่นเดียวกันกับการจัดระเบียบความคิดในการวางโครงเรื่องซึ่งมีด้วยกัน ๔ วิธีคือ
          ๑.  การลำดับย่อหน้าตามเวลาอาจลำดับตามเวลาในปฏิทินหรือตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง
          ๒.  การลำดับย่อหน้าตามสถานที่เรียงลำดับข้อมูลตามสถานที่หรือตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
          ๓.  การลำดับย่อหน้าตามความสำคัญ  เรียงลำดับตามความสำคัญมากที่สุด  สำคัญรองลงมาไปถึงสำคัญน้อยที่สุด
          ๔.  การลำดับย่อหน้าตามเหตุผล  อาจเรียงลำดับจากเหตุไปหาผลหรือผลไปเหตุ

ตัวอย่างรียงความ (แสดงให้เห็นคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุปที่ชัดเจน)

                                          เรียงความเรื่อง "วันพ่อแห่งชาติ"
                                                                                               โดย นายวุฒิชัย เจาะโพ
 
           ชายคนหนึ่งต้องทำงานหนัก  ชายคนหนึ่งต้องตื่นแต่เช้า  ชายคนหนึ่งต้องหาเช้ากินค่ำ  ชายคนหนึ่งต้อง    ตากแดดตากฝน  ชายคนหนึ่งต้องอดมื้อกินมื้อ  ชายคนหนึ่งกินข้าวไม่ค่อยอิ่ม  ชายคนหนึ่งต้องใส่เสื้อผ้าเก่าๆ         ชายคนหนึ่งต้องทำไร่ทำนา  ชายคนหนึ่งที่เคยผ่านอะไรมามากมาย  ชายคนหนึ่งโดนมีดบาดมือเป็นประจำ  ชายคนหนึ่งสุขภาพร่างกายไม่ค่อยดี  ชายคนนั้นอายุมากแล้ว  ชายคนหนึ่งกำลังเฝ้ารอคอยการกลับมาของใครบางคน...ชายคนนั้น   ก็คือ พ่อของผม
           ผมเป็นลูกชาวนาจน ๆ คนหนึ่ง  ในช่วงหน้าฝนนั้นพ่อจะพาผมไปที่ไร่เพื่อดายหญ้า ถางหญ้า ล้อมรั้วรอบๆ ไร่ เพื่อไม่ให้วัวควายเข้าไปในไร่  ให้วัวควายเข้าไปเฉพาะในนาเท่านั้น  พ่อของผมท่านไม่ค่อยได้พักผ่อน  เพราะมีงานให้ทำอยู่มากมายพ่อมักจะโดนมีดบาดมืออยู่เสมอ  เพราะท่านเป็นคนที่ขยัน เร่งรีบ และใจร้อน  พ่อของผมท่านต้องทำงานเกือบทุกย่างเพื่อทำหน้าที่ผู้นำครอบครัว  ผมมีพี่น้องอยู่หลายคน  แต่ส่วนใหญ่แล้วแต่งงานกันหมดแล้วต้องสร้างครอบครัวของตนเอง  ทำให้ไม่ค่อยมีเวลามาดูแลพ่อกับแม่  ส่วนที่เหลือก็กำลังเรียนอยู่ 
           พี่สาวของผมที่กำลังเรียนอยู่นั้นได้กลับบ้านเป็นประจำ  เพราะโรงเรียนอยู่ไม่ค่อยไกลผมเป็นลูกคนสุดท้อง    
ไม่ค่อยได้กลับบ้าน  เพราะโรงเรียนของผมนั้นอยู่ห่างไกลจากบ้าน  ทำให้ไม่ค่อยได้อยู่ดูแลพ่อกับแม่  ซึ่งท่านทั้งสองนั้นมีอายุมากแล้วแต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมสามารถทำเพื่อท่านได้  นั่นก็คือ  ตั้งใจเรียนสวดมนต์อธิษฐานภาวนาเพื่อท่านให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง  พ่อมักจะสอนผมอยู่เสมอว่าต้องตั้งใจเรียน  เรียนให้สูง ๆ จะได้มีงานทำที่ดีไม่ต้องลำบากเหมือนกับท่าน  พ่อสอนสานตะกร้าด้วยไม้ไผ่ทำด้ามมีด  ด้ามจอบ  ด้ามเสียม  ลับมีด  เลื้อยไม้  ตอกตะปู  และอะไรต่าง ๆ ให้ผมมากมาย  พอถึงหน้าฝนพ่อจะสอนให้ผมดำนาเป็น  เกี่ยวข้าวเป็น  ตีข้าวเป็น  ตำข้าวเป็น 
           ในตอนเด็ก ๆ นั้น พ่อผมจะเล่านิทานให้ผมฟังก่อนนอนทุกครั้ง  ตอนนี้ผมยังจำนิทานทุกเรื่องที่พ่อเล่าให้ผมฟังได้อยู่  ตอนนี้พ่อของผมท่านอายุมากแล้วทำให้สุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง  พ่อมักจะปวดหลัง ปวดหัวอยู่เสมอ   ผมจึงนวดหลังให้พ่ออยู่เสมอเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย  เมื่อถึงเวลาเปิดเรียนแล้วนั้น  ผมต้องเดินทางไปเรียนทุกครั้ง   ที่ผมจะไปเรียนนั้น  แม่ของผมท่านจะร้องไห้ทุกครั้งผมต้องปลอบใจแม่ทุกครั้ง ก่อนเดินทางไปเรียนในช่วงเปิดเรียน  
ผมเป็นห่วงท่านทั้งสองและคิดถึงท่านทั้งสองเสมอ  เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาตินี้ผมขอให้พ่อมีสุขภาพร่างกายที่สมบรูณ์และอยากบอกพ่อว่า  "ผมรักพ่อ"

เอกสารอ้างอิง
          ประนอม  วิบูลย์พันธ์ และคณะ. ๒๕๕๔.  หลักภาษาและการใช้ภาษาไทย
                      สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.).  กรุงเทพฯ.
          การเขียนเรียงความ. ๒๕๕๖. (ออนไลน์).  สืบคนจาก : http://th.wikipedia.org
                      [๒๕ธันวาคม ๒๕๕๖]



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น