วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเพณีแห่นกจังหวัดชายแดนภาคใต้


ประเพณีแห่นก   เป็นประเพณีพื้นเมืองของจังหวัดชายแดน   ภาคใต้ เช่น ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งได้กระทำสืบเนื่องกันมา  เป็นเวลานาน  จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาสเพื่อความสนุกรื่นเริงเป็นประเพณีที่แสดงออกเกี่ยวกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในศิลปะ และอาจจัดขึ้นในโอกาสเพื่อเป็นการแสดงคารวะ แสดงความจงรักภักดีแก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือในโอกาสต้อนรับแขกเมือง บางทีอาจจะจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุหนัด หรือที่เรียกว่า มาโซะยาวีหรือจัดขึ้นเพื่อการประกวดเป็นครั้งคราว
          จากตำนานบอกเล่ากล่าวถึงความเป็นมาของประเพณีแห่นกว่าเริ่มที่ยาวอ (ชวา) กล่าวคือ มีเจ้าผู้ครองนครแห่งยาวอพระองค์หนึ่ง มีพระโอรสและพระธิดาหลายพระองค์ พระธิดาองค์สุดท้องทรงเป็นที่รักใคร่ของพระบิดาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับการเอาอกเอาใจ ทั้งจากพระบิดาและข้าราชบริพารต่างพยายามแสวงหาสิ่งของและการละเล่นมาบำเรอ     ในจำนวนสิ่งเหล่านี้มีการจัดทำนกและจัดตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วมีขบวนแห่แหนไปรอบๆ ลานพระที่นั่ง เป็นที่พอพระทัยของพระธิดาเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดฯ ให้มีการจัดแห่นกถวายทุก  ๗  วัน
           อีกตำนานหนึ่งว่า ชาวประมงได้นำเหตุมหัศจรรย์ที่ได้พบเห็นมาจากท้องทะเลขณะที่ตระเวนจับปลามา เล่าว่า พวกเขาได้เห็นพญานกตัวหนึ่งสวยงามอย่างมหัศจรรย์ ผุดขึ้นมาจากท้องทะเลแล้วบินทะยานขึ้นสู่อากาศแล้วหายลับไปสู่ท้องฟ้า พระยาเมืองจึงซักถามถึงรูปร่างลักษณะของนกประหลาดตัวนั้น ต่างคนต่างก็รายงานแตกต่างกันตามสายตาของแต่ละคน พระยาเมืองตื่นเต้นและยินดีมาก ลูกชายคนสุดท้องก็รบเร้าจะใคร่ได้ชม พระยาเมืองจึงป่าวประกาศรับสมัครช่างผู้มีฝีมือหลายคนให้ประดิษฐ์รูปนกตามคำ บอกเล่าของชาวประมงซึ่งได้เห็นรูปที่แตกต่างกันนั้น ช่างทั้งหลายประดิษฐ์รูปนกขึ้นรวม ๔ ลักษณะ คือ นกกาเฆาะซูรอ หรือนกกากะสุระ       นกชนิดนี้ตามการสันนิษฐานน่าจะเป็น นกการเวกเป็นนกสวรรค์ที่สวยงามและบินสูงเทียมเมฆ การประดิษฐ์มักจะตกแต่งให้มีหงอนสูงแตกออกเป็นสี่แฉก นกชนิดนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า นกทูนพลูเพราะบนหัวมีลักษณะคล้ายบายศรีพลูที่ประดับในถาดเวลาเข้าขบวนแห่ ทำเป็นกนกลวดลายสวยงามมาก มักนำไม้ทั้งท่อนมาแกะสลักตานก แล้วประดับด้วยลูกแก้วสี ทำให้กลอกกลิ่งได้ มีงายื่นออกมาจากปากคล้ายงาช้างเล็ก ๆ พอสมกับขนาดของนก  รูปนกลักษณะที่  ๒  นกกรุดาหรือนกครุฑ มีลักษณะคล้ายกับครุฑที่เห็นโดยทั่วไป  รูปนกลักษณะที่ ๓ นกบือเฆาะมาศหรือนกยูงทอง มีลักษณะคล้ายกับนกกาเฆาะซูรอมาก การประดิษฐ์ตกแต่งรูปนกพญายูงทองนั้น ต้องทำกันอย่างประณีตถี่ถ้วน และใช้เวลามาก  และรูปนกลักษณะที่  ๔  นกบุหรงซีงอหรือนกสิงห์ มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ ตามคตินกนี้มีหัวเป็นนกแต่ตัวเป็นราชสีห์ ตามนิทานเล่ากันว่ามีฤทธิ์มาก ทั้งเหาะเหินเดินอากาศ     และดำน้ำได้ ปากมีเขี้ยวงาน่าเกรงขาม 
การประดิษฐ์นกนิยมใช้ไม้เนื้อเหนียว เช่น ไม้ตะเคียน ไม้กายีร นำมาแกะเป็นหัวนก เนื้อไม้เหล่านี้ไม่แข็งไม่เปราะจนเกินไป สะดวกในการแกะของช่าง ทั้งยังทนทานใช้การได้นานปี สำหรับตัวนกจะใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นโครง ติดคานหาม แล้วนำกระดาษมาติดรองพื้น ต่อจากนั้นก็ตัดกระดาษสีเป็นขน ประดับส่วนต่าง ๆ สีที่นิยมได้แก่ สีเขียว สีทอง (เกรียบ) สีนอกนั้นจะนำมาใช้ประดับตกแต่งเพื่อให้สีตัดกันแลดูเด่นขึ้น
ประเพณีการแห่นกนั้นนอกจากที่ให้ความสนุกสนานแล้ว ยังให้คติ ความเชื่อ      ความรัก ความสามัคคี และความเชื่อในการยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ร่วมพิธีในการปัดเป่า    สิ่งชั่วร้ายต่างๆ ดังนั้นจึงควรร่วมกันอนุรักษ์ให้ประเพณีแห่นกยังคงอยู่สืบเนื่องต่อไป

ที่มา       http://www2.pattani.go.th/
http://www.yru.ac.th

1 ความคิดเห็น:

  1. อัสมาน...
    ครูตรวจงานแล้วนะค่ะ ครั้งที่ ๑ คะแนน ๑๐ คะแนน ได้ ๖ คะแนนค่ะ
    ครูขอเป็นกำลังใจให้ในการปรับปรุงเรียงความให้สมบูรณ์น่ะคะ ดังนี้
    ๑. ปรับชื่อเรื่องให้น่าสนใจ
    ๒ แทรกรูปภาพหรือจะแทรกวีดีโอให้น่าสนใจมากขึ้น
    ๓. จัดข้อความให้น่าสนใจ
    ๔. บอกแหล่งที่มาของข้อมูลในการเขียนเรียงความ เช่น เวบไซต์ที่ใช้ในการสืบค้น เป็นต้น

    ตอบลบ